Back

8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี

Click to rate this post!
[Total: 13 Average: 5]

++++ 8 ตัวช่วยลดหย่อนภาษี ++++

*** ตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยไม่ต้องลงทุนเพิ่ม

1. สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อคุณแม่ ตัวช่วยแรกนี้ สำหรับลูก ๆ ที่มีคุณพ่อคุณแม่อายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และคุณพ่อคุณแม่มีรายได้ไม่เกินคนละ 30,000 บาท สามารถใช้สิทธิลดหย่อนอุปการะเลี้ยงดูคุณพ่อ-คุณแม่ได้ท่านละ 30,000 บาท โดยพี่น้องจะต้องตกลงกันก่อนว่าใครจะเป็นผู้ใช้สิทธิ เพราะสิทธินี้จะไม่สามารถนำมาเฉลี่ยได้หากคุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคน ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีลูก 2 คน คุณพ่ออาจให้สิทธิลูกคนโต คุณแม่ให้สิทธิกับลูกคนเล็กก็ได้ค่ะ (รายได้ในที่นี้รวมถึงดอกเบี้ยรับจากธนาคารที่คุณพ่อคุณแม่ฝากเงินเอาไว้ด้วยนะคะ เนื่องจากบางครั้งเราเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่เกษียณแล้วไม่น่าจะมีรายได้อะไร แต่ปรากฏว่าท่านมีรายได้จากดอกเบี้ยสูงกว่า 30,000 บาท จะไม่สามารถใช้สิทธิได้)

2. การใช้สิทธิลดหย่อนบุตร ในกรณีที่จดทะเบียนสมรส ต่างฝ่ายจะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้คนละ 17,000 บาท สูงสุดไม่เกิน 3 คน (หากบุตรไม่เรียนหนังสือ หรือเรียนต่างประเทศ จะสามารถใช้สิทธิได้เพียงคนละ 15,000 บาท) ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่มีบุตร 3 คน และบุตรทั้ง 3 อยู่ในระหว่างการศึกษาในประเทศไทย สามารถใช้สิทธิลดหย่อนบุตรได้สูงสุดฝ่ายละ 51,000 บาท

3. อุปการะเลี้ยงดูคนพิการหรือคนทุพพลภาพ ในกรณีที่บุคคลในครอบครัวเป็นคนพิการ สามารถใช้สิทธิอุปการะเลี้ยงดูคนพิการได้ คนละ 60,000 บาท ซึ่งบุคคลเหล่านี้จะต้องเป็นคุณพ่อคุณแม่ของเรา หรือคุณพ่อคุณแม่ของคู่สมรส เป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายหรือบุตรบุญธรรมก็สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้งสิ้น (ไม่จำกัดจำนวนคน) ในกรณีที่เป็นบุคคลอื่น ๆ นอกเหนือจากบุคคลดังกล่าว สามารถอุปการะเลี้ยงดูได้อีก 1 คน ทั้งนี้ จะต้องทำตามเงื่อนไข โดยผู้มีเงินได้จะต้องเป็นผู้ดูแลตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ โดยมีชื่อเป็นผู้ดูแลคนพิการในบัตรประจำตัวคนพิการ ก็สามารถใช้สิทธิหักลดหย่อนภาษีได้ค่ะ

*** ตัวช่วยลดหย่อนภาษีโดยการลงทุนเพิ่ม

4. ค่าเบี้ยประกันสุขภาพคุณพ่อคุณแม่ ในกรณีที่เราซื้อประกันสุขภาพให้กับคุณพ่อคุณแม่ตนเอง หรือคุณพ่อคุณแม่ของคู่สมรส ค่าเบี้ยประกันดังกล่าวสามารถนำมาหักลดหย่อนภาษีได้สูงสุดไม่เกิน 15,000 บาท ทั้งนี้ ประกันสุขภาพดังกล่าวจะต้องมีชื่อคุณพ่อหรือคุณแม่ หรือคุณพ่อคุณแม่คู่สมรสเป็นผู้เอาประกัน โดยที่ท่านจะต้องมีเงินได้ในปีภาษีไม่เกิน 30,000 บาท นอกจากนี้จะต้องมีชื่อเราเป็นผู้ชำระค่าเบี้ยประกัน จึงจะสามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ค่ะ

5. ค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำค่าเบี้ยประกันชีวิตมาใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ สามารถใช้ได้เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตเท่านั้น ไม่สามารถนำค่าเบี้ยประกันสุขภาพมาลดหย่อนได้ แม้ว่าจะอยู่ในกรมธรรม์เดียวกันก็ตาม นอกจากนี้ หากมีค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ สามารถใช้สิทธิลดหย่อนเพิ่มเติมได้อีก 15% ของเงินได้ทั้งปี ไม่เกิน 200,000 บาท เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) แล้วจะต้องไม่เกิน 500,000 บาทค่ะ

6. ดอกเบี้ยจากการกู้ยืมซื้อบ้าน สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้ตามจริง สูงสุดไม่เกิน 100,000 บาท ทั้งนี้ การใช้สิทธิดอกเบี้ยจะต้องดูเงื่อนไขการกู้ยืม เช่น กรณี กู้ซื้อบ้าน 1 หลังเพียงลำพัง เสียดอกเบี้ยทั้งปี 40,000 บาท ก็สามารถนำดอกเบี้ยจำนวน 40,000 บาท มาใช้สิทธิได้เต็มจำนวน หากกู้ซื้อบ้านหลังที่ 2 โดยการกู้ร่วมกับคู่สมรส โดยเสียดอกเบี้ยของบ้านหลังที่ 2 ทั้งหมดจำนวน 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิดอกเบี้ยบ้านหลังที่ 2 ได้จำนวน 30,000 บาท เมื่อรวมกับบ้านหลังที่ 1 แล้ว จะสามารถใช้สิทธิได้จำนวน 70,000 บาท (บ้านหลังที่ 2 ไม่สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้เต็มจำนวนเนื่องจากเป็นการกู้ร่วม ดังนั้น สิทธิในการลดหย่อนภาษีต้องแบ่งครึ่ง)

7. กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) สามารถลงทุนได้ตั้งแต่ 3% ของเงินได้ทั้งปี หรือ 5,000 บาท แล้วแต่จำนวนใดต่ำกว่า สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี (เมื่อรวมกับกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และค่าเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญแล้วต้องไม่เกิน 500,000 บาท) ซึ่งในแต่ละปีอาจจะลงทุนไม่เท่ากันก็ได้ แต่แนะนำให้มีการลงทุนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอทุกปี เพราะเงินลงทุนก้อนแรกต้องมีการลงทุนไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับแบบวันชนวัน) และผู้ลงทุนจะต้องมีอายุ 55 ปีบริบูรณ์ จึงจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้อย่างไม่ผิดเงื่อนไข

8. กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) สามารถลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15% ของเงินได้ทั้งปี และไม่เกิน 500,000 บาท เมื่อลงทุนแล้วจะต้องถือครองนาน 5 ปีปฏิทิน หรือ 3 ปีเศษนั่นเอง การลงทุนในกองทุนประเภทนี้จะต้องรับความเสี่ยงได้พอควรเพราะมีความผันผวนจากหุ้น



Administrator
Administrator
https://yeepou.com